คำอธิบาย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
หม่อน
หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) ชื่อสามัญ Mulberry tree, White Mulberry[1]
หม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
สมุนไพรหม่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มอน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน), ซึงเฮียะ ซึงเอียะ (จีนแต้จิ๋ว), ซางเย่ (จีนกลาง) เป็นต้น[2],[3]
หม่อนที่เรารู้จักกันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ หม่อนที่ปลูกเพื่อรับประทานผล (ชื่อสามัญ Black Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus nigra L.) ชนิดนี้ผลจะโตเป็นช่อ เมื่อสุกผลจะเป็นสีดำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมารับประทาน ทำแยม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนอีกชนิดนั้นก็คือ หม่อนที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก (ชื่อสามัญ White Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.) เป็นชนิดที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ครับ ชนิดนี้จะมีใบใหญ่และออกใบมากใช้เป็นอาหารของไหมได้ดี ส่วนผลจะออกเป็นช่อเล็ก เมื่อสุกแล้วจะมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ครับ แต่ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่
ลักษณะของหม่อน
ต้นหม่อน เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีนตอนใต้ แถบเทือกเขาหิมาลัย แต่ภายหลังได้มีกรนำเข้ามาปลูกในอินโดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2.5 เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มากนัก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดง สีขาวปนสีน้ำตาล หรือสีเทาปนขาว ส่วนเปลือกรากเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเหลือแดง มีเส้นร้อยแตกที่เปลือกผิว พบได้ทั่วไปในป่าดิบ ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ
สรรพคุณของหม่อน
ใบหม่อนมีรสจืดเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระงับประสาท (ใบ)[1],[4]
ใบใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ราก)[4]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น (กิ่ง)[8]
ช่วยบำรุงหัวใจ (ผล)[8]
ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ (ผล)[3],[4]
ผลหม่อนมีรสเปรี้ยวหวานเย็น มีสรรพคุณช่วยดับร้อน คายความร้อนรุ่ม ขับลมร้อน ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการกระหายน้ำ และทำให้ร่างกายชุ่มชื่น (ผล)[1],[2],[4],[8]
ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน (ใบ)[1],[2],[3],[4]
ใบมีรสขม หวานเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาแก้ไอร้อนเนื่องจากถูกลมร้อนกระทบ (ใบ)[2]
ใบมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[3],[4]
ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[1]
เปลือกรากหม่อนมีรสชุ่ม เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด แก้ไอร้อนไอหอบ (เปลือกราก)[2]
เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)[3]
ใบนำมาทำเป็นยาต้ม ใช้อมหรือกลั้วคอแก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง แก้ไอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น หล่อลื่นภายนอก (ใบ)[2],[3],[4]
รากนำมาตากแห้งต้มผสมกับน้ำผึ้ง มีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจและการมีน้ำสะสมในร่างกายอย่างผิดปกติ (ราก)[4]
ยอดหม่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มและล้างตาเป็นยาบำรุงตา (ยอด)[8] ส่วนผลมีสรรพคุณทำให้เส้นประสาทตาดี ทำให้สายตาแจ่มใส ร่างกายสุขสบาย (ผล)[8]
ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างตา แก้ตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาฝ้าฟาง (ใบ)[1],[4]
ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็นและตาสว่าง (ใบ)[2], ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยทำให้หูตาสว่าง (ผล)[2]
ใบแก่นำมาตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก (ใบแก่)[4]
ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เปลือกรากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หรือจะใช้ใบนำมาทำเป็นชาเขียวใช้ชงกับน้ำดื่มก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลก็มีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้เช่นกัน (ราก,เปลือกราก,ใบ,ผล)[2],[3],[8]
ใบอ่อนหรือแก่นำมาทำเป็นชาเขียว ใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยลดไขมันในเลือด (ใบ)[3]
ช่วยขับน้ำในปอด (เปลือกราก)[2]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ช่วยจัดความร้อนในปอด และกระเพาะอาหาร ช่วยขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด (กิ่ง)[8]
ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)[2]
ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อน ๆ และมีเมล็ดที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร (ผล)[3],[4] ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาระบายเช่นกัน (เปลือกต้น)[3],[4]
เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น)[3],[4] รากช่วยขับพยาธิ (ราก)[4]
เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)[2]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน (กิ่ง)[8]
ผลเป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยบำรุงตับและไต (ผล)[1],[2],[4]
ช่วยรักษาตับและไตพร่อง (ผล)[2]
รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[4]
ใบนำมาอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าว ใช้วางบนแผลหรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด (ใบ)[4]
ใบใช้ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอกรักษาแผลจากการนอนกดทับ (ใบ)[4]
ใบใช้เป็นยาแก้อาการติดเชื้อ (ใบ)[4]
ช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขา (เปลือกราก)[2]
ช่วยแก้ข้อมือข้อเท้าเกร็ง แก้โรคปวดข้อ ไขข้อ (ผล)[2],[4],[8]
ช่วยแก้แขนขาหมดแรง (ราก)[4]
กิ่งหม่อนมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาขับลมชื้นแก้ข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นเกาะติด หรือลมร้อนที่ทำให้ปวดแขน ขาบวม หรือมือเท้าแข็งเกร็ง เส้นตึง (กิ่ง)[2] ช่วยรักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เป็นเหน็บชา ด้วยการใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่า ๆ นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ผึ่งไวให้แห้ง แล้วนำมาต้มกิน (กิ่ง)[8]
ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ (ผล)[8]
ส่วนในประเทศจีนจะใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ และผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้ไอ หืด วัณโรคปอด ขับปัสสาวะ การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ และโรคปวดข้อ (เปลือกราก,กิ่งอ่อน,ใบ,ผล)[4]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] เปลือกรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม, ส่วนผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรับยาตามที่ต้องการ[2]
ประโยชน์ของหม่อน
ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้[3],[4]
ผลหม่อนมีสาร Anthocyanins ในปริมาณมาก (เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็ง ช่วยต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ฯลฯ) และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น สาร Deoxynojirimycin (ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด), กาบา (ช่วยลดความดันโลหิต), สาร Phytosterol (ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล), สาร Polyphenols (สารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์กับร่างกาย), สารประกอบฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ อาการเส้นเลือดโป่งพอง ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส), สาร Quercetin และสาร Kaempferol ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (เป็นสารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาว และลดอาการแพ้ต่าง ๆ), และยังมีกรดโฟลิกสูง (ช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญได้เต็มที่ จึงช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และยังช่วยทำให้เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติได้อีกด้วย) นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุ และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น (เมื่อผลหม่อนมีระยะสุกเพิ่มขึ้น ปริมาณของสารออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย)[7],[8] อ่านประโยชน์และสรรพคุณของมัลเบอร์รี่เพิ่มเติมได้ที่ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) สรรพคุณและประโยชน์ของมัลเบอร์รี่ 24 ข้อ !
ใบอ่อนและใบแก่สามารถนำมาทำเป็นชาเขียว ชาจีน หรือชาฝรั่งชงกับน้ำดื่มได้ โดยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูงได้ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปรรูปใบหม่อนเป็นผลิตภัณฑ์ชา ทั้งชาเขียวและชาดำ ที่ใช้ชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[3]
ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ โดยมักนำมาใช้ใส่ในแกงแทนการใช้ผงชูรส หรือใช้รับประทานเป็นอาหารต่างผัก ส่วนชาวอีสานจะนำไปใส่ต้มยำไก่ ต้มยำเป็ด มีรสเด็ดอย่าบอกใคร[4],[8]
ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม เยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพาย ไอศกรีม นำมาแช่อิ่ม ทำแห้ง ลูกอมหม่อน ทำน้ำหม่อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ หรือไวน์หม่อน เป็นต้น[7]
ใบหม่อนเป็นพืชอาหารที่วิเศษสุดสำหรับตัวไหม หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่จะนำโปรตีนที่ได้จากใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนแล้วผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงามได้อีกต่อหนึ่ง โดยใบหม่อนประมาณ 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ประมาณ 10-12 กิโลกรัม (ใบหม่อนมีโปรตีนประมาณ 18-28.8% ของน้ำหนักแห้ง, มีคาร์โบไฮเดรต 42.25%, ไขมัน 4.57%, ใยอาหารและเถ้า 24.03%,) นอกจากนี้ใบหม่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เอื้องได้บางชนิด และนำไปใช้เลี้ยงปลาได้อีกด้วย[3],[4],[7],[8] และวัวควายที่กินใบหม่อนจะทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น[4]
เนื้อไม้มีสีเหลือง เนื่องจากมีสาร Morin สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรได้[3]
เยื่อจากเปลือกของลำต้นและกิ่งมีเส้นใย สามารถนำมาเป็นกระดาษได้สวยงาม เช่นเดียวกับกระดาษสา[3],[7]
ลำต้นและกิ่ง สามารถนำมาใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์บางชนิดได้[7]
นอกจากนี้เรายังสามารถนำต้นหม่อนมาใช้ในการปลูกเพื่อจัดและประดับสวนเพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่ดีได้ เมื่อแตกกิ่งใหม่ กิ่งจะย่อยห้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์ไม้อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม และต้นหม่อนยังทนต่อการตัดแต่ง หลังการตัดแต่งแล้วจะมีการแตกกิ่งและเจริญเติบโตเร็ว
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์